เพชรสีเลือด
เพชรเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนหลายคน บางคนมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ใส่เพชรออกไปเดินข้างนอก บางคนมีความสุขที่สามารถขายเพชรได้กำไรดี บางคนกำลังจะเลือกซื้อเพชรแต่ก็ชั่งน้ำหนักดูว่าคุ้มค่าไหมเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องใช้จ่ายเป็นค่าอาหารในแต่ละเดือน เพราะเพชรมีความเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรา วันนี้เราจะมาพูดถึงเพชรสีเลือดว่ามันคืออะไรและเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร.
เพชรสีเลือดคืออะไร?
เพชรสีเลือดหรือเพชรที่มาจากแหล่งไม่ชอบธรรม เป็นแหล่งที่มีการใช้ความรุนแรงก่อกบฏขึ้น มีการใช้แรงงานทาสหรือบังคับแรงงานเด็กและผู้หญิงมาช่วยในการขุดเพชร เพชรที่ได้มาจึงถูกมองว่าเป็นเพชรที่ได้มาจากความโหดร้ายเราจึงเรียกว่าเพชรสีเลือด นอกจากนี้เพชรสีเลือดยังหมายถึงเพชรที่ได้มาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ถูกขโมยมาอีกทีหนึ่งในระหว่างที่กำลังขนส่งหรือในระหว่างที่พื้นที่นั้นกำลังมีสงครามมีความขัดแย้งเกิดขึ้น.
ผู้ก่อกบฏมักนำเพชรมาขายให้กับพ่อค้า พวกลักลอบขนส่งสินค้าและพ่อค้าเพชรที่ไม่มีจรรยาบรรณเพื่อนำเงินมาซื้ออาวุธเสริมกองกำลังต่างๆ จากนั้นเพชรก็จะถูกลักลอบนำมาวางขายในตลาดและมีการซื้อขายกันเสมือนเป็นเพชรที่ถูกต้องตามกฎหมาย.
ขอให้นึกไว้เสมอว่าทุกครั้งที่คุณซื้อเพชรสีเลือดมันคือการซื้อความเจ็บปวดของมนุษยชาติ อย่างไรก็ตามผู้ซื้อเพชรส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่าเพชรที่เขากำลังซื้ออยู่นี้มาจากแหล่งที่มีปัญหาหรือกำลังจะสร้างปัญหาในอนาคตต่อไป.
การต่อสู้เพื่อต่อต้านเพชรสีเลือด
มีการต่อสู้เพื่อต่อต้านเพชรสีเลือดขึ้นโดยองค์กร UN ในปี 1998 หลังจากที่ UN ได้ตรวจสอบเจอกระบวนการซ่องสุมกองกำลังทหารในแถบประเทศแอฟริกาโดยกองกำลังทหารนี้ได้ขายเพชรเพื่อแลกกับการซื้ออาวุธ.
ในปี 2000 เพื่อเป็นมาตรการในการขจัดและป้องกันการค้าเพชรที่มีแหล่งกําเนิดในพื้นที่ที่อยู่ในการยึดครองของฝ่ายกบฎต่อต้านรัฐบาลที่่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้มีการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อกําหนดแนวทางในการออกใบรับรองระหวางประเทศสําหรับเพชร มาตรการเหล่านี้เรียกว่า "กระบวนการคิมเบอร์ลี่".
ปี 2003 สภาเพชรโลกได้มาแถลงการณ์ต่อต้านและแบนตลาดซื้อขายเพชรสีเลือดหรือเพชรแห่งความขัดแย้งที่ประเทศแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ ผ่านโครงการ Kimberley Process Certification Scheme (KPCS) ซึ่งเป็นมาตรการออกหนังสือรับรองระหว่างประเทศสำหรับการซื้อขายเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไนหรือเพชรดิบ.
มาตรการออกหนังสือรับรองระหว่างประเทศสำหรับเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน(KPCS) คือหนังสือรับรองประเทศแหล่งที่มาของเพชรเม็ดนั้นซึ่งออกหนังสือทางการและลงนามรับรองโดยรัฐมนตรีของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับรองว่าเพชรเม็ดนั้นไม่ได้มาจากความขัดแย้งทางการทหารหรือพูดง่ายๆคือเพชรเม็ดนั้นไม่ใช่เพชรสีเลือดหรือเพชรแห่งความขัดแย้งนั้นเอง.
มาตรการออกหนังสือรับรองระหว่างประเทศสำหรับเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน(KPCS)ได้รับการยอมรับและผ่านสภา UN ในปี 2002 และได้รับการยอมรับจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกเพชรในปี 2003.
ในปี 2005-2007 ก็มีหลายประเทศเข้าร่วมในโครงการออกหนังสือรับรองระหว่างประเทศสำหรับเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน(KPCS) ได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย บังกลาเทศ เลบานอน ไลบาเรียและนิวซีแลนด์ ส่วนในปี 2011-2012 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปานามา แคเมอรูนและประเทศคาซัคสถานก็ได้เข้าร่วมโครงการ KPCS นี้่เช่นกัน.
ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกานั้นซึ่งเป็นประเทศที่ซื้อเพชรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ได้มีบทบาทสำคัญต่อโครงการ KPCS เพื่อลดปริมาณแห่งความขัดแย้งนี้ลงและกำจัดให้หมดไปจากโลก ประธานาธิบดีคลินตันสั่งแบนและห้ามนำเข้าเพชรจากสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone) มีคำสั่งในวันที่ 18 มกราคม 2001 ส่วนประธานาธิบดีบุช ได้แบนและห้ามนำเข้าเพชรจากประเทศไลบีเรีย มีคำสั่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 2001.
ปัจจุบันนี้ยังมีเพชรสีเลือดหรือเพชรแห่งความขัดแย้งหลงเหลืออยู่ในโลกประมาณ 1% ของเพชรทั่วโลก แม้ว่ามันอาจจะดูน้อยแต่เพชร 1% นี้ก็เป็นเพชรที่หล่อเลี้ยงกองกำลังต่อต้านรัฐบาลแอฟริกาอยู่ในขณะนี้มายาวนานจนถึงปัจจุบัน.
แล้วเราจะซื้อเพชรที่ไม่ได้มาจากความขัดแย้งได้อย่างไรและซื้อที่ไหน?
เพื่อให้ได้ เพชรที่ไม่ได้มาจากความขัดแย้ง ก่อนที่จะซื้อเพชรขอให้คุณเช็คว่าเพชรเม็ดนั้นมีใบรับรองมาตรการคิมเบอร์ลี่หรือไม่ เพราะจะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าเงินที่คุณจ่ายไปนั้นไม่ได้ใช้ในการซ่องสุมกองกำลังกบฏที่ประเทศแอฟริกา.
ปัจจุบันนี้ผู้ค้าเพชรทุกรายจะให้ใบรับรองคิมเบอร์ลี่นี้กับคุณด้วยเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเขานั้นไม่ได้ช่วยซ่องสุมกองกำลังกบฏหรือกำลังสร้างสงครามให้กับคนบนโลกนี้.
ขั้นตอนที่ 2 ให้คุณเช็คว่าเพชรที่คุณกำลังจะซื้อนั้นมาจากประเทศใดแล้วหาข้อมูลว่าประเทศนั้นๆเป็นประเทศที่กระบวนการคิมเบอร์ลีย์ระบุห้ามซื้อไว้หรือไม่ ชอบธรรมหรือไม่ยกตัวอย่างเช่นเพชรที่มาจากแคนาดาหรือนิวซีแลนด์เมื่อเทียบกับเพชรที่มาจากประเทศอื่นๆที่มีเศรษฐกิจแย่ประชาชนยากจน แม้ทุกประเทศที่ยกตัวอย่างมาจะมีใบรับรองคิมเบอร์ลี่เหมือนกันแต่กระบวนการขุดเหมืองแร่นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเชิงของจริยธรรมในการประกอบธุรกิจและสภาพสิ่งแวดล้อมในการทำงานของพนักงานขุดเพชร.
คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขุดเพชรในเหมืองเพชรสมัยใหม่ได้ที่บทความนี้ การขุดเหมืองเพชรในยุคปัจจุบัน เพื่อที่จะศึกษาแนวปฏิบัติงานของเหมืองเพชรสมัยใหม่ คุณจะได้มั่นใจว่าเบื้องหลังการซื้อเพชรของคุณไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนหรือชุมชนอื่นๆ .